Sunday 1 March 2009

เริ่มต้นการวางแผนทางการเงินกันดีกว่า

เริ่มต้นกันดีกว่า

ขั้นตอนของการวางแผนทางการเงินโดยปกติแล้ว เป็นเรื่องของการแปลความเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายของบุคคลหนึ่งบุคคลใดออกมา เป็นแผน หลังจากนั้นจึงแก้สมการออกมาเป็นเรื่องของการเงินและการลงทุนเพื่อดำเนินการ ให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งขั้นตอนต่างๆมักจะประกอบไปด้วย

ขั้นที่ 1 รวบรวมข้อมูลด้านการเงิน

การจะวางแผนกิจกรรมต่างๆให้ได้ดี จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลพื้นฐานที่สมบูรณ์พร้อม ซึ่งข้อมูลที่ต้องการจะมากน้อยหรือเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ แต่ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องของการลงทุนส่วนบุคคล รายได้และรายจ่าย กรมธรรม์ประกันภัยที่ถืออยู่ การเตรียมการเมื่อเกษียณอายุ หรือไม่ก็เรื่องของพินัยกรรม ซึ่งขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลอาจจะไม่จำเป็นต้องลึกถึงแก่น หรือมากมายเป็นกองพะเนิน เพราะในบางครั้งแค่ข้อมูลน้อยนิดก็อาจจะทำให้แผนงานสำเร็จลงได้ หากเรารู้ว่าเรากำลังมองหาอะไร

ขั้นที่ 2 กำหนดเป้าหมาย

เป็นเรื่องจำเป็นอยู่เองที่เราจะต้องกำหนดเป้าหมายหรือจุดมุ่ง หมายให้ชัดเจนและตรงประเด็นให้ได้มากที่สุด และเมื่อเราได้เป้าหมายมาแล้ว ก็ต้องเข้าใจเอาไว้ด้วยว่า เป้าหมายที่ว่านี้อาจจะไม่คงอยู่ถาวร มีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ สิ่งใดที่เหมาะสมหรือคิดว่าดีสำหรับคู่หนุ่มสาวเมื่อกำลังอยู่ในช่วง ฮันนีมูน อาจจะไม่เข้าท่ากับครอบครัวที่มีลูกกำลังเรียนมหาวิทยาลัย หรือคู่ตายายที่กำลังจะย่างเข้าวัยเกษียณอายุ

ขั้นที่ 3 วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน สรรหาทางเลือก

ขั้นตอนที่สามของกระบวนการวางแผนคือการวิเคราะห์สถานการณ์ ปัจจุบันของบุคคล ที่จะมีผลต่อเป้าหมาย และการสรรหาทางเลือกเพื่อแก้ไขข้อเสียที่ตรวจพบ บ่อยครั้งที่บุคคลอาจจะเน้นหนักในบางเรื่อง แต่พร่องไปในส่วนอื่น เพราะฉะนั้นการปรับสมดุลของทุกส่วนจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

ขั้นที่ 4 พัฒนา และปรับเปลี่ยนแผน

อย่างที่เคยกล่าวเอาไว้แล้วว่า แผนการเงินและการลงทุนหนึ่งแผน ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม ความสลับซับซ้อนของสิ่งที่อยู่รอบตัว เพราะฉะนั้นข้อเสนอแนะที่ได้ย่อมจะแตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าคนๆนั้นจะเป็นใคร อีกทั้งแผนก็อาจจะดำเนินต่อไป โดยที่บุคคลนั้นอาจจะไม่สามารถปฏิเสธบางส่วนของแผน ที่เขาเองไม่เห็นด้วย หรือไม่สามารถรับได้

ขั้นที่ 5 ทบทวนรายปี เปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม

ไม่มีแผนการเงินใดที่สามารถจัดทำ นำไปใช้แล้วจบได้ในครั้งเดียว ในเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป แผนก็ควรจะมีการเปลี่ยนแปลง เหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลาของบุคคลมีทั้งการเกิด การแต่งงาน การหย่าร้าง การเสียชีวิต เปลี่ยนงาน รวมทั้งปัจจัยอื่นๆที่ก้าวเข้ามาในชีวิต ซี่งมีผลทำให้เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนการให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนที่ว่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่า บุคคลจะสามารถละเลยหรือขาดวินัยในการปฏิบัติตามแผนที่ได้ตกลงกันไว้ แต่ประเด็นควรจะอยู่ที่ว่า หลังจากที่ปฏิบัติผ่านไปแล้วในแต่ละปี เราควรมาศึกษา ปรับเปลี่ยนตามความจำเป็น

คำตอบสุดท้าย


ไม่ว่าจะมีแผนการเงินเพียงหนึ่งแผน หรือมากกว่านั้น แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะสามารถรับประกันถึงผลที่ออกมาได้ เช่นเดียวกับการลงทุน แผนการเงินเป็นเรื่องของความน่าจะเป็น เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่คาดการณ์ ไม่ใช่เรื่องของความแน่นอน แต่โดยอาศัยความรู้ และวินัยในการปฏิบัติของบุคคลนั้น เราเชื่อว่า โลกจะเป็นของคนที่วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าเสมอ

No comments:

Post a Comment